|
โครงการวันสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๐ |
|
๑. หลักการและเหตุผล
วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันมหาสงกรานต์แล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุ-แห่งชาติอีกด้วย เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่ชุมชน ท้องถิ่นด้วยกันทั้งนั้น
ผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า เป็นวัยที่ผ่านประสบการณ์ในแต่ละช่วงอย่างมากมาย จนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้น ให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตามและเป็นวัยที่สามารถสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นให้กับลูกหลานในครอบครัวและชุมชนได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสร้างคุณงามความดีต่างๆที่ประจักษ์และเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานได้ถือปฏิบัติ
เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักและเคารพต่อผู้สูงอายุในตำบลและเป็นการอนุรักษ์ สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไทร ร่วมกับหน่วยงาน องค์การภาครัฐและเอกชน ผู้นำชุมชนในท้องถิ่น ได้ดำเนินการจัดงานประเพณีรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุและประเพณีวันสงกรานต์ ขึ้น ตลอดจนจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้สูงอายุในตำบลหนองไทร เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับผู้สูงอายุในการดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและสามารถเป็นการยึดเหนี่ยวใจลูกหลานในตำบล ต่อไป
โดยวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการ เป็นการสอดคล้องกับภารกิจขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไทร ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๗ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
(๒) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
(๓) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
และตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตนเอง ดังนี้
(๔) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(๕) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
๒. วัตถุประสงค์
๑) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีอันดีงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติให้คงอยู่สืบไป
๒) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชน ได้แสดงออกถึงความเคารพรัก และความกตัญญูกตเวที
ต่อผู้สูงอายุ
๓) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว ตลอดจนเกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจของผู้สูงอายุและบุคคลอื่นในชุมชน
๔) เพื่อให้ผู้สูงอายุในตำบลได้พบปะทำกิจกรรมร่วมกัน และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ
|
|
|
|